อัดเสียงเรื่องเทคโนโลยีทางการศึกษา

การเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม

ตลาดย้อนยุค

วันจันทร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

[ภาษาไทย] ภาษาไทยกับการแต่งกลอน

[ภาษาไทย] ภาษาไทยกับการแต่งกลอน



สาระ : หลักการใช้ภาษา
กลุ่มสาระฯ : ภาษาไทย
ข้อมูลระดับ : ประถมศึกษา
บทกลอน นับเป็นบทร้อยกรองไทย ที่เป็นที่นิยมแพร่หลายมากกว่าบทร้อยกรองชนิดอื่น อาจเป็นเพราะสามารถแต่งได้ง่ายกว่าบทร้อยกรองชนิดอื่นก็เป็นได้ พจนานุกรมฉบับบัณฑิตยสถาน ได้กำหนดความหมายของคำว่า "กลอน" ในแง่ของร้อยกรองหรือคำประพันธ์ว่า

"คำประพันธ์ซึ่งแต่เดิมเรียกว่าคำเรียงที่มีสัมผัสทั่วไป จะเป็นโคลง ฉันท์ หรือกาพย์ก็ตาม เช่น ในคำว่า ชุมนุมคำกลอนเอย, ครั้นเรียกเฉพาะคำประพันธ์บางอย่างเป็นคำโคลง คำฉันท์ คำกาพย์แล้ว คำประพันธ์นอกจากนี้อีกอย่างหนึ่งจึงเรียกว่า คำกลอน เป็นลำนำสำหรับขับร้องบ้าง คือ บทละคร เสภา สักวา บทดอกสร้อย เป็นเพลงสำหรับอ่านช้าง คือ กลอนเพลงยาว หรือกลอนตลาด"

ในการแต่งกลอนให้มีความไพเราะนั้น ผู้แต่งที่ยังไม่ชำนาญมักจะประสบกับปัญหาประการสำคัญ คือ ไม่รู้จะเริ่มต้นกลอนวรรคแรก และจบกลอนวรรคสุดท้ายอย่างไร ในที่นี้จึงขอสรุปข้อเขียน เรื่องเคล็ด (ไม่ลับ) การเขียนกลอนจากหนังสือ ต้มยำทำกลอน มาแนะนำ ดังนี้

เคล็ดลับในการเขียนกลอน สำคัญอยู่ที่การขึ้นต้น ให้น่าประทับใจ การดำเนินเรื่องให้มีความต่อเนื่อง เชื่อมโยงเป็นเรื่องเดียวกัน ใช้สำนวนโวหารชวนติดตาม มีการใช้คำเปรียบเทียบ ใช้ถ้อยคำที่เหมาะสม มีการเล่นคำและใช้ข้อความที่เป็นคติสอนใจ และจบบทกลอนให้น่าประทับใจเหมือนตอนขึ้นต้น กลอนจึงจะน่าอ่าน น่าสนใจ

การขึ้นต้นบทกลอนให้น่าประทับใจ ชวนให้ติดตามมีหลายวิธี เช่น ขึ้นต้นด้วยคำนิยาม คำจำกัดความ การบอกเล่า หรือ การปฏิเสธเรื่องราว การใช้เสียงหรือสัญลักษณ์ เป็นต้น ซึ่งยกตัวอย่างมาเป็นแนวทาง ดังนี้

๑. ขึ้นต้นด้วยสำนวนไทย คำพังเพย สุภาษิต เช่น


น้ำขึ้นให้รีบตักหลักภาษิต เป็นข้อคิดคำคมสมสมัย
เมื่อโอกาสมีอยู่สู่หลักชัย รีบฉวยไว้ยื้อแย่งแข่งเวลา


จาก เวลาและวารีไม่ยินดีจะคอยใคร ของ ประสิทธิ์ บุญวงศ์
๒. ขึ้นต้นด้วยการบอกเรื่องราวประสบการณ์ชีวิต เช่น



จากเยาว์วัยไร้เดียวสาซึ่งน่ารัก เริ่มรู้จักความสดใสแห่งวัยรุ่น
เหมือนกุหลาบอาบน้ำค้างกลางอรุณ เอิบอบอุ่นประกายจับสายตา


จาก ยุวสตรีไทย ของ ณรงค์ อิ่มเย็น
๓. ขึ้นต้นด้วยความรัก ความประทับใจ เช่น



เลือดจะฉีดขึ้นหน้าเวลาพบ ยิ่งประสบแววตาซื่อมือจะสั่น
พูดไม่ออกบอกไม่ได้ใบ้ความกัน ผูกสัมพันธ์ทีละน้อยด้วยรอยยิ้ม

จาก รัก ของ ชมพร จือเหลือง

๔. ขึ้นต้นด้วยการใช้ธรรมชาติมาเป็นอารมณ์ เช่น


หนาวลมหนาวเหน็บย้ำดึกกำดัด พระจันทร์ลัดห้วงหาวเหินดาวเหนือ
กระซิบฟ้าฝากดาวหนาวเหน็บเนื้อ ว่าหนาวใจใครจะเอื้อให้อุ่นใจ


จาก เจ้าพระยาถึงฝั่งโขง ของ สงวน สมกาย
เมื่อขึ้นต้นบทกลอนและดำเนินเรื่องไปด้วยดีแล้ว ตอนจบก็ควรดีด้วย เพื่อให้กลอนประทับใจผู้อ่าน ซึ่งเคล็ดลับในการเขียนตอนจบของกลอนให้น่าประทับใจคือ

๑. จบด้วยคำคมที่ลึกซึ้ง กินใจ เช่น



คนท่าทางสั่งฟ้าวอนมาถึง คำคำหนึ่งมอบแด่คนแควใหญ่
ถึงสายน้ำลำฝั่งแยกทางไป ขอสายใจอย่าต้องเป็นสองแคว


จาก จากท่ายางถึงแควใหญ่ ของ เกสรดาว
๒. จบด้วยทิ้งปริศนาให้คิด คล้ายเป็นการฝากข้อคิดให้คนอ่านช่วยกันคิด ช่วยกันแก้ปัญหาของสังคม เช่น



นี่ก็ผ่านลมหนาวหลายคราวแล้ว ไม่มีแววว่าครูมาอยู่ใหม่
มีแต่เสียงผู้แทนอยู่แสนไกล มีแต่ครูไทยถูกฆ่าตาย


จาก ครูไทย ของ สรรพสิทธิ์ เลอสรรพ์

๓. จบด้วยสรุปใจความ ฝากข้อคิดเห็น แต่ชวนให้คนอ่านคิดต่อไปอีก หรือในลักษณะเป็นสัจธรรมเช่น



มองโลกด้วยปัญญาแสงสว่าง จะพบส่วนดียังทุกก้าวย่ำ
โดยระเบียบวิถีสัจธรรม สิ่งสวยงามลึกล้ำในตัวเอง


จาก ธาตุแท้ ของ จอมจตุรงค์

๔. จบด้วยการหักมุม พลิกความคาดหมาย คือ เขียนถึงเรื่องอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ ครั้นเวลาจบกลับไปจบอีกเรื่องหนึ่ง คาดเดาไม่ได้ เช่น



สักวาลาศรีปทุมล้วนหนุ่มสาว คงมีคราวผูกพันพบกันใหม่
สงสารเอยมาฟังโดยตั้งใจ จนเวลาเลื่อนไหลไปเนิ่นนาน
ฟังพิทักษ์รักษาภาษาสยาม ให้งดงามเคียงแผ่นดินคู่ถิ่นฐาน
อย่าหลงเล่ห์ "โลกาภิวัตน์" นิทรรศการ หวยรัฐบาล "แปดเจ็ด" เลขเด็ดเอย


จาก สักวาลาจาก ของ ประสิทธิ์ โรหิตเสถียร

๕. จบด้วยการซ้ำบทแรก เพื่อเน้นความรู้สึก
๖. จบด้วยสำนวนไทย สุภาษิต คำพังเพย

เคล็ดลับในการแต่งกลอนนี้ คงจะเป็นแนวทางสำหรับผู้หัดแต่งกลอนได้บ้าง แต่อย่างไรก็ตามผู้แต่งควรหมั่นฝึกฝนแต่งกลอนบ่อยๆ






ที่มา http://www.tlcthai.com/webboard/view_topic.php?table_id=1&cate_id=125&post_id=16783

1 ความคิดเห็น: